'ข้อมูล' หนึ่งในยุทธศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พ.ศ. 2563–2567

'ข้อมูล' หนึ่งในยุทธศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พ.ศ. 2563–2567

Data as a Strategic Asset

ยุทธศาสตร์คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พ.ศ. 2563–2567

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล มีความมุ่งมั่นในการสร้างองค์กรที่เป็นเลิศ มุ่งสู่อนาคตด้วยผลงานที่เป็นเลิศ คณะผู้บริหารคณะฯ นำโดย ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์คณะฯ พ.ศ. 2563 – 2567 แบ่งออกเป็น 5 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่

  1. ปฏิรูปเพื่ออนาคต (Future-focused Reformation)

  2. บูรณาการ (Integration and Consolidation)

  3. ร่วมมือกับพันธมิตร (Collaboration and Partnerships)

  4. พัฒนาความเป็นมืออาชีพ (Professionalization)

  5. เสริมฐานความยั่งยืน (Sustainability)

รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับยุทธศาสตร์คณะฯ

ด้วยการเล็งเห็นความสำคัญของข้อมูลอันเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญเชิงยุทธศาสตร์ (Data as a Strategic Asset) จึงมอบหมายคณะทำงานยุทธศาสตร์ที่ 1 กลยุทธ์ย่อยที่ 1.7 การปฏิรูปการบริหารข้อมูล ฐานข้อมูล ระบบข้อมูลเพื่อการบริหาร (Database and MIS Management Reform) ดำเนินการขับเคลื่อนการนำข้อมูลต่าง ๆ เช่น ข้อมูลการให้บริการทางการแพทย์ ข้อมูลในการบริหารจัดการองค์กร ข้อมูลการเงินการคลัง ข้อมูลทรัพยากรบุคคล ข้อมูลนักศึกษา เป็นต้น มาใช้ประโยชน์ต่อเป้าหมายการสร้างสรรค์สุขภาวะแห่งมวลมนุษยชาติ โดยมีกำหนดควบคุมการใช้ข้อมูลอย่างมีธรรมาภิบาล (Data Governance) มีการจัดการที่ดี (Data Management) และสร้างสรรค์นวัตกรรมข้อมูล (Data Innovation) ซึ่งทุก ๆ ยุทธศาสตร์ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้

  1. Smarts พัฒนาการทำงาน

  2. Innovation สร้างสรรค์นวัตกรรม

  3. World Changer เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง

Siriraj Data Strategy & Execution

การจะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ให้สัมฤทธิผลนั้นประกอบด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ ทั้งส่วนที่เป็น แรงผลักดัน (Drivers) ทรัพยากร (Resources) การขับเคลื่อน การดำเนินการ (Execution) จนไปสู่ผลลัพธ์ (Outcomes)

แรงผลักดัน (Drivers)

  1. แรงผลักดันจากภายใน (Internal Drivers) เกิดจากความมุ่งหมาย (Aspirations) ที่จะยกระดับการนำข้อมูลมาใช้ในการพัฒนาการทำงาน (Smarts) นำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovation) ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกองค์กรได้ (World Changer)

  2. แรงผลักดันจากภายนอก (External Drivers) มาจากกฎหมาย (Law) กฎระเบียบต่าง ๆ (Regulations) ที่ควบคุม กำหนดการใช้ข้อมูล มาตรฐานทางจริยธรรม (Ethics) รวมไปถึงการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นไปตามมาตราฐานข้อมูลระดับสากล (Standards) ไม่ว่าจะเป็น HL7 FHIR, OMOP CDM เพื่อสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือ (Collaboration)

ทรัพยากร (Resources)

บุคลากรที่มีทักษะและความเข้าใจข้อมูล (People & Talents)

เป็นทรัพยากรที่จำเป็นที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ขึ้นได้ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จึงได้จัดตั้งศูนย์สารสนเทศและนวัตกรรมข้อมูลศิริราช หรือ Siriraj Informatics and Data Innovation Center (SiData+) เมื่อปี พ.ศ.2563 (2020) เพื่อเป็นหน่วยงานหลักของคณะฯ ในการผลักดันยุทธศาสตร์นี้ด้วยการสร้างคณะทำงานที่มีทักษะด้านข้อมูล และประสานงานกับบุคลากรจากทุก ๆ หน่วยงานในศิริราชในการใช้ข้อมูลตามวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ทั้งนี้บุคลากรในหน่วยงานที่สร้างและใช้ข้อมูลเอง ย่อมเข้าใจข้อมูลได้ดีที่สุด ศูนย์ SiData+ จึงมีพันธกิจในการส่งเสริมให้บุคลากรในหน่วยงานต่าง ๆ ของคณะฯ มีทักษะด้านข้อมูลอีกด้วยเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาด้านข้อมูล จึงมีการตั้งคณะกรรมการ 2 ชุดหลักดังนี้

  1. คณะกรรมการข้อมูล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ทำหน้าที่เป็น Steering Committee ในการกำหนดทิศทางของยุทธศาสตร์การปฏิรูปข้อมูล และพิจารณาประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลภายในคณะฯ โดยมีคณบดี คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเป็นประธาน รองคณบดีทุกฝ่ายงานเป็นกรรมการ และผู้อำนวยการศูนย์ SiData+ เป็นเลขานุการ

  2. คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปข้อมูล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ทำหน้าที่เป็น Working Committee ในการรับนโยบายจาก Steering Committee มาดำเนินการต่อให้เกิดผลงานและผลลัพธ์ รวมถึงมีการประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมความเข้าใจในการใช้ข้อมูล โดยมีผู้อำนวยการศูนย์ SiData+ เป็นประธาน หัวหน้าฝ่าย/งานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลหลักของคณะฯ เป็นกรรมการ และรองผู้อำนวยการศูนย์ SiData+ เป็นเลขานุการ

ข้อมูล (Data)

ประกอบด้วยข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ภายในคณะฯ ที่จำเป็นจะต้องมีการจัดระเบียบ เพื่อให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Infrastructure & Hardware

ทั้งส่วนที่สำหรับจัดเก็บข้อมูล Database Storage รวมถึง Computing Server สำหรับการพัฒนาผลงาน อาทิ Machine Learning และการเผยแพร่ผลงาน เช่น BI Dashboards, Applications ภายในองค์กรและสู่สาธารณะ ด้วยกลไกการควบคุมการเข้าถึงรูปแบบต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัย (Cybersecurity)

ทรัพยากรอื่น ๆ

เช่น งบประมาณ (Budget) เวลา (Time) เป็นต้น

การขับเคลื่อน การดำเนินการ (Execution)

การดำเนินการ เกิดจากกระบวนการ (Process) และเครื่องมือ (Technology) เข้ามาประกอบกับทรัพยากร (Resources) ในโครงการ (Projects) ต่าง ๆ แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ดังนี้

  1. ธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance)

  2. การจัดการข้อมูล (Data Management)

  3. นวัตกรรมข้อมูล (Data Innovation)

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความ พันธกิจศูนย์ SiData+

ผลลัพธ์ (Outcomes)

ผลลัพธ์ที่ได้จากการนำข้อมูลมาใช้แบ่งออกเป็น 3 ด้าน หลัก ๆ ได้แก่

  1. ประสิทธิการดำเนินการขององค์กร (Operational Efficiency) รวมถึงการเพิ่มรายได้หรือลดรายจ่าย (Financial Gain) ซึ่งเกิดจากการนำข้อมูลไปใช้ในการจัดการการทำงาน การติดตามงาน รวมถึงการพิจารณาแหล่งรายได้หรือรายจ่าย อันนำไปสู่การจัดการที่มุ่งเป้า

  2. การให้บริการทางสุขภาพ (Clinical Services) การนำข้อมูลไปใช้ในการรักษาพยาบาล เช่น การนำ ML & AI มาใช้ในการวิเคราะห์ภาพถ่ายทางรังสีหรือทางพยาธิวิทยา และการคาดการณ์ (prediction) แนวโน้มของโรคจากข้อมูลที่มี เป็นต้น

  3. ผลงานวิจัย (Research Output) ที่เป็นการสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่จากการนำข้อมูลมาใช้ ภายใต้การจัดการธรรมาภิบาลข้อมูล

ทั้งนี้ ยังมีผลลัพธ์อื่น ๆ อีก เช่น ได้รับประสบการณ์จากการทำงานที่สามารถนำไปถ่ายทอดต่อนักศึกษาและบุคคลอื่น การได้รับการยอมรับจากการเข้าร่วมเครือข่ายการวิจัยระดับนานาชาติ และการมีระดับความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลที่ยอมรับในระดับสากล เช่น HIMSS Adoption Model for Analytics Maturity (AMAM) เป็นต้น

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ HIMSS AMAM ได้ในบทความต่อไปนี้