ปฐมบทมาตรฐานข้อมูลวิจัยทางการแพทย์แห่งชาติ
[News] การอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “พื้นฐาน OMOP CDM มาตรฐานข้อมูลทางการแพทย์ระดับสากลสู่งานวิจัย”
ข้อมูลเป็นทรัพยากรที่สำคัญในการดำเนินการวิจัยทางการแพทย์ แต่ข้อมูลที่จัดเก็บในระบบของโรงพยาบาลหรือการเบิกจ่ายมักมีความหลากหลายและซับซ้อน จึงทำให้ไม่สามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวในงานวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้จึงมีการพัฒนามาตรฐานรูปแบบข้อมูลเพื่อการวิจัยในระดับสากลขึ้น เรียกว่า "OMOP Common Data Model" หรือ "OMOP CDM" ซึ่งเป็นที่แพร่หลายในหลายประเทศและเป็นพื้นฐานสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถการวิจัย แต่มาตรฐาน OMOP CDM ดังกล่าวยังไม่เป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย
จึงได้ริเริ่มโครงการ "การพัฒนานวัตกรรมระบบเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วยเพื่อยกระดับความมั่นคงสุขภาพในการพัฒนาระบบริการและนโยบายด้านสุขภาพ: การเชื่อมโยงข้อมูลบริการสุขภาพผู้สูงอายุของโรงพยาบาลศิริราชและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" ด้วยความร่วมมือของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขึ้นในปี 2566 นี้
คณะปฏิบัติงานจากศูนย์นวัตกรรมข้อมูลศิริราช (SiData+) และหน่วยวิจัยเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพ (SiHP) ภายใต้ทุนสนับสนุนจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “พื้นฐาน OMOP CDM มาตรฐานข้อมูลทางการแพทย์ระดับสากลสู่งานวิจัย” ในวันพฤหัสบดีที่ 21 กันยายน 2566 เวลา 09.00 – 17.00 น. ณ ห้อง A01AB ชั้น 10 อาคาร KX Knowledge Xchange Building (BTS วงเวียนใหญ่)
บรรยายโดย นายณัฐวุฒิ อดุลยานุโกศล
BA Hons (Cantab). Deputy Director of Siriraj Informatics and Data Innovation Center (SiData+). PhD Biomedical and Health Informatics Student, University of North Carolina at Chapel Hill, USA
และวิทยากรับเชิญ Asst. Prof. Mengling ‘Mornin’ Feng, PhD. Assistant Director of Research at Institute for Data Science, National University of Singapore จากประเทศสิงคโปร์
ในครั้งนี้ นักวิจัย ผู้ช่วยวิจัย อาจารย์ และแพทย์ จากโรงเรียนแพทย์ชั้นนำทั่วประเทศ กว่า 50 คน ต่างให้ความสนใจเข้าร่วม อาทิ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคีเครือข่ายของโครงการจากฝ่ายนวัตกรรมข้อมูลอัจฉริยะ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รวมทั้งคู่ค้าของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้มาตรฐานข้อมูลการวิจัยทางการแพทย์ระดับสากล OMOP CDM สามารถใช้งานเครื่องมือของ OHDSI ที่รองรับมาตรฐาน OMOP CDM ในงานวิจัยเบื้องต้นได้ ทราบแนวทางการนำข้อมูลไปใช้เพื่อการวิจัยในรูปแบบ Observational Research เข้าใจหลักการธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance) ทั้งด้านคุณภาพข้อมูล การรักษาความเป็นส่วนตัว (Privacy) และจริยธรรมการวิจัย และมีเครือข่ายและความร่วมมือทางการวิจัยทางการแพทย์อีกด้วย
มาตรฐานข้อมูลวิจัยทางการแพทย์แห่งชาติ อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม หากท่านสนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพวกเรา โปรดติดตามกิจกรรมที่น่าสนใจของโครงการได้เร็ว ๆ นี้
ช่องทางการติดต่อสอบถาม
ศูนย์นวัตกรรมข้อมูลศิริราช (SiData+)
อีเมล sidata@mahidol.ac.th
โทร 02-414-1368, 02-419-5423