สรุปประเด็นที่น่าสนใจจาก การประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานครครั้งที่ 3 พ.ศ. 2565
เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2655 ที่ผ่านมา ผมนายแพทย์เปี่ยมบุญ และคุณวิเชียร บุญญะประภา หัวหน้าทีมธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance Team) SiData+ มีโอกาสได้ไปเข้าร่วม workshop กับสมัชชาสุขภาพ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการระดมความคิดที่เน้นความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งภาครัฐและภาคประชาชนในการแก้ปัญหาสุขภาพ โดยเน้น 3 เรื่องหลัก คือ "โรคติดต่ออุบัติใหม่" "โรคไม่ติดต่อ(NCDs)" และ "สุขภาพจิต" ภายในงานมีการบรรยายให้ความรู้ ควบคู่ไปกับกระบวนการชี้ให้ปัญหาและเข้าถึงปัญหาเป็นส่วนใหญ่ DG Team จึงถือโอกาสนี้ บอกเล่าเรื่องราวและประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ ภาพรวมของการเคลื่อนไหวที่คู่ขนานกันไประหว่างภาครัฐและประชาชนครับ
หมายเหตุ workshop ที่ทีมเข้าร่วมเป็นการจัดครั้งที่ 3 อาจจะตามทันในบางประเด็น ขออภัยมา ณ ที่นี้ครับ
เริ่มต้นการสรุปการประชุม 2 ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 1 นี้ได้กล่าวถึงเรื่องขอบเขตของกรอบประเด็น เพื่อจัดลําดับประเด็นย่อยที่ที่ประชุมให้ความสําคัญในการขับเคลื่อนในปี พ.ศ. 2565 ส่วนการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งที่ 2 เป็นเรื่องผู้ที่เกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสียจากการพัฒนาประเด็นอ้างอิงจากกรอบประเด็นย่อยจากการประชุมครั้งที่ 1 โดยกิจกรรมทั้งหมดนี้มีกระบวนกรเป็นผู้อำนวยความสะดวกใน workshop อย่างเป็นลำดับขั้นและเข้าใจง่าย ทำให้ทีมสามารถเข้าใจและร่วมแบ่งปันความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ได้เป็นอย่างดี
หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอน Mechanism map เพื่อช่วยกันพิจารณาว่า ขณะนี้มีการทำงานในเรื่องต่างๆ อย่างไรบ้าง ปัจจุบันมีใครเป็น stakeholder หลัก ใครเป็นผู้มีอำนาจสั่งการในการแก้ปัญหาโดยตรง รวมถึงมีการช่วยเหลือต่างๆ โดยข้อมูลที่เกิดขึ้นมาจากการบอกเล่าจากประสบการณ์ของผู้เข้าร่วม workshop ทั้งในฐานะผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการทางสาธารณสุขครับ
ประเด็นที่น่าสนใจในขั้นตอนนี้ คือ กลไกพิเศษที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ Covid ที่ผ่านมา รวมถึงสถานการณ์เกี่ยวกับโรคไม่ติดต่อ (NCDs) และสุขภาพจิต ซึ่งถือเป็นกลไกการทำงานพิเศษของภาคประชาชนในการช่วยเหลือและให้บริการประชาชน อีกทั้งกลไกนี้ยังสามารถตอบสนองได้อย่างทันท่วงที และเข้าถึงประชาชนได้ในวงกว้างด้วย ทำให้สถานการณ์ต่างๆ บรรเทาลงได้ เช่น การมี Influencer ใช้สื่อสังคมออนไลน์ช่วยประสานงานกับทางโรงพยาบาลต่างๆ ให้กับคนไข้ Covid-19 เป็นต้น
ต่อมาใน workshop จะเลือก Focus วิธีการแก้ปัญหา ใน 3 ประเด็น คือ
- การบูรณาการเครือข่าย
- การจ่ายเงินแบบ Bundle payment
- การเชื่อมโยงระบบข้อมูลที่ดี
ซึ่งผู้เข้าร่วมได้หารือในแต่ละประเด็นปัญหา และวิธีการแก้ไขปัญหาที่ควรให้ความสำคัญ โดยมีข้อสรุปว่า
- เรื่องสุขภาพจิต ควรให้ความสำคัญเรื่องการบูรณาการเครือข่าย
- เรื่องโรคติดต่ออุบัติใหม่และโรคไม่ติดต่อ(NCDs) ควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาที่การเชื่อมโยงระบบข้อมูลที่ดี
นอกจากนี้ยังมีความเห็นเพิ่มเติมว่า หากสามารถทำให้ข้อมูลการรักษาของผู้ป่วยในกรุงเทพฯ เชื่อมโยงกันได้ ก็จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องความไม่สะดวกสบายในการเข้ารับบริการได้ ซึ่งจุดนี้ผมเห็นด้วยครับ เนื่องจากมีโอกาสได้ทำงานอยู่ในแวดวงสาธารณสุข จึงได้เห็นปัญหาเกี่ยวข้องกับความสะดวกของผู้รับบริการ เช่น การเข้ารับบริการในสถานพยาบาลที่ไม่เคยไปมาก่อน ซึ่งไม่มีประวัติการรักษาเดิม ทำให้การรักษาเป็นไปได้อย่างลำบาก หากสามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสถานพยาบาลได้ ปัญหานี้จะหมดไปครับ
การจัดการข้อมูลที่ดี เราทำได้ครับ
ผมมีความเห็นว่า การจัดการข้อมูลที่ดี เริ่มด้วยการมีมาตรฐานการจัดเก็บข้อมูลที่ดี ซึ่งจะสามารถช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้บริการทางสาธารณสุขได้จริง ผมกำลังนึกถึงการทำงานปัจจุบันของทีมธรรมาภิบาลข้อมูลของ SiData+ ที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปการบริหารข้อมูล ฐานข้อมูล ระบบข้อมูลเพื่อการบริหารและติดตามของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยทีมกำลังดำเนินการจัดทำ Metadata และ Master data ขององค์กร หากโครงการนี้แล้วเสร็จ คาดว่าจะสามารถเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ได้พัฒนาการบริหารจัดการการเก็บข้อมูลในหน่วยงานของตัวเอง เพื่อเป้าหมายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้รับบริการทางสาธารณสุขครับ รอติดตามตอนต่อไปนะครับ ไว้ผมจะมาเล่าให้ฟัง :)
และท้ายที่สุดผู้เข้าร่วม Workshop ได้ระดมความคิดว่า มีสิ่งใดที่ทำได้ดีอยู่แล้วและควรทำต่อไป สิ่งใดที่ยังทำได้ไม่ดีและควรแก้ไขเพิ่มเติม และแต่ละคน/หน่วยงานจะมีส่วนร่วมกับการแก้ไขปัญหานี้ต่อไปอย่างไรที่สามารถปฏิบัติได้ทันทีในหน่วยงาน ซึ่งส่วนใหญ่เรื่องที่สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องรอกลไกของรัฐ คือ เรื่องการประสานงานของเครือข่ายภาคประชาชน
สิ่งที่จุดประกายในการทำงานของพวกเรา
การได้เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ ทำให้เห็นว่าการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานมีความสำคัญอย่างเห็นได้ชัดในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเอง หรือหน่วยงานภาครัฐกับเอกชน ซึ่งนี่เป็นส่วนหนึ่งของพันธกิจของ SiData+ เช่นกัน
การเข้าร่วมประชุมกับสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานครครั้งนี้ทำให้พวกเรามีแรงใจในการแก้ปัญหาเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลให้สำเร็จ เพราะผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดแค่ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราช แต่ยังสามารถนำไปช่วยเหลือหน่วยงานอื่น ๆ ในกรุงเทพมหานคร และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้เป็นต้นแบบการเปลี่ยนแปลงด้านการจัดการข้อมูลให้กับองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชนในประเทศไทยครับ
ท้ายที่สุดนี้ ทีม Data Governance ของ SiData+ ได้ขับเคลื่อนโครงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ภายในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เช่น การทำ privacy notice ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง และการเปิดให้มีกระบวนการและเอกสารขอใช้สิทธิ ที่เกี่ยวข้องกับจัดการคำร้องขอในการใช้สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล (Data Subject) สามารถเข้ามาศึกษาได้ที่ si.mahidol.ac.th/data/en/privacy
รวมถึงมีโมเดลของการสร้างระบบข้อมูลขององค์กรที่คุณณัฐวุฒิ อดุลยานุโกศล ท่านรองผอ.ศูนย์ SiData+ ได้เผยแพร่ไว้ใน Series:How Siriraj Execute the Data Strategy มากมายหลายบทความ เรียนเชิญเข้ามาศึกษา และถ้ามีโอกาสก็เข้ามา discuss กันได้ใต้บทความนะครับ สำหรับบทความนี้ขอขอบคุณ และสวัสดีครับ
ผู้เขียน นายแพทย์เปี่ยมบุญ ธมโชติพงศ์ ทีม Data Governance, SiData+
ผู้ร่วมแชร์ประสบการณ์ คุณวิเชียร บุญญะประภา หัวหน้าทีม Data Governance, SiData+
บรรณาธิการ ศศินิภา อุทัยสอาด SiData+ ศศินา เถียรพรมราช SiData+