Data ELT กระบวนการเตรียมข้อมูลให้พร้อมสำหรับงาน Data Analytics

Data ELT กระบวนการเตรียมข้อมูลให้พร้อมสำหรับงาน Data Analytics

Data Extraction – Load – Transformation (ELT) for Data Analytics

ในแต่ละองค์กรย่อมมีข้อมูลหลากหลายเรื่อง จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ จำนวนมาก ถ้าถามว่า "สามารถนำข้อมูลจากแหล่งต้นทางเหล่านี้มาใช้สำหรับงานวิเคราะห์ตรง ๆ เลยจะได้ไหม" ก็ต้องตอบว่า "ได้ ...แต่ไม่มีประสิทธิภาพ" เพราะจะเจอกับประเด็นต่าง ๆ เช่น

  1. ต้องมาอัพเดทข้อมูลให้เป็นปัจจุบันเอง (ถ้าต้องการข้อมูลเพื่อตอบปัญหาครั้งเดียวจบ ก็จะไม่มีปัญหานี้)

  2. ข้อมูลแต่ละระบบเก็บไม่เหมือนกัน เช่น ข้อมูลเดียวกันแต่ชื่อ column/field ไม่เหมือนกัน (ตัวอย่าง รหัสบุคลากรอาจจะเก็บเป็น EmployeeID, empID, employee_no) หรือ ชื่อ column/field เดียวกันแต่เนื้อข้อมูลต่างกัน (ตัวอย่าง employee_type อาจหมายถึง ประเภทการจ้างงาน, ประเภทบุคลากร, ประเภทเงินเดือน เป็นต้น)

  3. ข้อมูลที่เก็บที่ต้นทาง หรือ application database มักจะถูก design มาสำหรับการใช้งานในรูปแบบ transaction ซึ่งมีความต้องการแตกต่างจากการวิเคราะห์ analytics ที่อาจจะต้องมีการคำนวน และการเชื่อมโยงกับข้อมูลอื่น ๆ เพิ่มเติม

  4. การตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล จะทำให้ผู้ใช้งานข้อมูลเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า ข้อมูลมีความถูกต้อง เป็นปัจจุบัน ไม่หาย ไม่ซ้ำ

  5. การรักษาความปลอดภัย (security) และความเป็นส่วนตัว (privacy) ของข้อมูลที่กระจัดกระจายอยู่ จะทำให้ควบคุมการใช้งานได้ยาก และเมื่อมีกฎหมายทั้ง พ.ร.บ. Cybersecurity และ PDPA ต้องยิ่งควบคุมให้ดี มิเช่นนั้นก็จะมีบทลงโทษต่อองค์กร

จากตัวอย่างประเด็นข้างต้น กระบวนการ ELT จะเข้ามาช่วยคลี่คลายประเด็นเหล่านี้ และช่วยให้การจัดการ Data มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

Data ELT

Source

ในศิริราช มีข้อมูลอยู่ 3 แหล่งหลัก ๆ

  1. Databases ที่เก็บข้อมูลจากระบบในโรงพยาบาลต่าง ๆ เช่น OPD, IPD, Lab, Pharmacy, Finance, HR และอื่น ๆ

  2. Spreadsheets ข้อมูลที่เก็บในไฟล์เป็นตาราง เช่น ตัวชี้วัด KPIs จากหน่วยงานต่าง ๆ, ระบบเก็บข้อมูลที่ไม่ใช่ Database เป็นต้น

  3. APIs ที่คืนค่ามาเป็น JSON ผ่านระบบ Data Service Layer (DSL) ซึ่งเป็น integration gateway กลาง เชื่อมโยงข้อมูลจากระบบต่าง ๆ มาส่งให้ เช่น Data Registry เป็นต้น

กรณี Databases (NoSQL), Spreadsheets, APIs จะมีการแปลงข้อมูล (Transformation) ให้อยู่ในรูปแบบ Tabular relations (SQL-compatible)

แต่ละ source เปรียบเสมือน ปลา แต่ละชนิด ใน 1 แม่น้ำ

Data Lake

นำข้อมูลออกมาจาก source ต่าง ๆ (Extract) มารวมกันในแหล่งเดียว เพื่อให้ง่ายต่อการจัดการ และเมื่อแยกส่วนออกจาก Application Database การทำงานใน Data Lake ก็จะไม่ไปกระทบกับ Database ต้นทาง

เปรียบเสมือน ปลาหลายชนิด จาก หลายแม่น้ำ ไหลมารวมกัน (Extract & Load) ในทะเลสาบ (Lake)

Data Warehouse

นำข้อมูลจาก Lake มาจัดระเบียบและแปลงโครงสร้าง (Transformation) ให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถนำข้อมูลไปใช้ต่อได้ง่ายขึ้น เช่น Unified Star Schema, OMOP CDM เป็นต้น โดยอาจมีการนำ Data จากหลาย table มาเชื่อมโยงกัน (Join) เพื่อเติมข้อมูลให้สมบูรณ์ขึ้น และจัดวางบน shelf ชั้นวางในคลังข้อมูลให้เรียบร้อย

ในขั้นนี้สามารถเริ่มนำ Data ไปใช้งานต่าง ๆ เช่น การทำ Dashboard, การทำ ML & AI เป็นต้น ได้บ้างแล้ว แต่ยังต้องอาศัยผู้ที่มีความเข้าใจข้อมูลพอสมควรในการใช้งาน เช่น การ Join, Group By, Pivot เป็นต้น

เปรียบเสมือน ทีม Data specialists ที่มีความรู้ในการตกปลา (Transformation) ไปจับปลาชนิดที่ต้องการ มาเก็บไว้ในคลัง

Data Mart

นำข้อมูลจาก Data Warehouse มาปรับโครงสร้าง ให้พร้อมใช้งานได้มากที่สุด โดยที่ผู้ใช้งานที่ได้รับอนุญาตสามารถหยิบข้อมูลควบคู่กับคำอธิบายไปใช้ได้โดยง่าย

เปรียบเสมือน ทีม Data specialists แล่ปลา (Transformation) ให้พร้อมไปวางขายใน supermarket ทำให้ผู้ใช้งานข้อมูล (Data users) สามารถซื้อไปปรุงอาหารต่อได้ง่าย (Data products) โดยที่ไม่ต้องตกปลาหรือแล่ปลาเป็น


แนะนำแหล่งศึกษาเพิ่มเติม