วางแนวทางพัฒนาการวิเคราะห์ข้อมูลในโรงพยาบาลด้วย Adoption Model for Analytics Maturity

วางแนวทางพัฒนาการวิเคราะห์ข้อมูลในโรงพยาบาลด้วย Adoption Model for Analytics Maturity

HIMSS Adoption Model for Analytics Maturity (AMAM)

หนึ่งในวิธีที่องค์กรจะวัดความพร้อม ความสามารถ (Maturity) ในการพัฒนาด้านต่าง ๆ สามารถทำได้โดยการนำสถานะปัจจุบันขององค์กรไปเปรียบเทียบ (Benchmark) กับ Maturity Model ที่มีกำหนดไว้ และมีองค์กรอื่น ๆ มาใช้ร่วมกัน ซึ่งช่วยเป็นแนวทางที่ดีให้องค์กรของเราพัฒนาต่อไปตาม Model ที่ยอมรับร่วมกันในระดับนานาชาติ

การวัด Maturity ของการวิเคราะห์ข้อมูลในโรงพยาบาล มี Maturity Model ระดับนานาชาติหนึ่งที่นำมาวัดได้คือ HIMSS AMAM ซึ่งย่อมาจากชื่อเต็ม ๆ ว่า Adoption Model for Analytics Maturity กำหนดขึ้นโดย Healthcare Information and Management Systems Society (HIMSS)

HIMSS ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1961 ในสหรัฐอเมริกา เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (Not-for-profit organization) เพื่อสนับสนุนการสร้างความเปลี่ยนแปลงในการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีในสถานพยาบาลทั่วโลก HIMSS กำหนด Maturity Models ไว้อีกหลายด้าน เช่น Electronic Medical Record Adoption Model (EMRAM), Infrastructure Adoption Model (INFRAM), Digital Imaging Adoption Model (DIAM), Continuity of Care Maturity Model (CCMM) เป็นต้น

HIMSS AMAM

HIMSS AMAM ประเมิน Maturity การวิเคราะห์ข้อมูลในโรงพยาบาลแบ่งเป็น 8 ระดับ ตั้งแต่ระดับ 0 มีการวิเคราะห์ข้อมูลกระจัดกระจายในองค์กร (Fragmented Point Solutions) ต่อมาระดับจากนั้นเริ่มมีการจัดการข้อมูล การใช้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ มีประโยชน์มากขึ้น ไปจนถึงระดับ 7 ที่ใช้ข้อมูลในการรักษารายบุคคล (Personalized medicine) และการวิเคราะห์ข้อมูลแบบให้คำแนะนำ (Prescriptive Analytics)

แต่ละระดับของ HIMSS AMAM ประเมิน 4 องค์ประกอบ ได้แก่

  1. Data Governance: ธรรมาภิบาลข้อมูล นโยบายการจัดการ การใช้ข้อมูลในโรงพยาบาล โครงสร้างผู้รับผิดชอบ

  2. Infrastructure: ระบบการจัดเก็บข้อมูล

  3. Data Content: ข้อมูลที่มีการจัดเก็บ ทั้งข้อมูลผู้ป่วย ค่าใช้จ่าย monitoring devices ต่าง ๆ

  4. Analytics Competency: ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล

โรงพยาบาลที่ได้รับการประเมิน HIMSS AMAM ระดับสูงสุด Stage 7 ส่วนมากอยู่ในสหรัฐอเมริกา เช่น UNC Medical Center, Ronald Reagan UCLA Medical Center, Stanford Children’s Hospital และ Seattle Children’s Hospital เป็นต้น

โรงพยาบาลศิริราช จึงมีการนำ HIMSS AMAM มาใช้ในการวางแผนการพัฒนาด้านข้อมูลในศิริราช อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความ Siriraj Data Timeline


สำหรับท่านที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม คุณ Jason Burke อดีต UNC Health Chief Analytics Officer เขียนหนังสือ Health Analytics: Gaining the Insights to Transform Health Care อ่านง่าย และได้ไอเดียดี ๆ มากมายครับ

Health Analytics: Gaining the Insights to Transform Health Care by Jason Burke


Disclaimer: AMAM เป็นขององค์กร HIMSS ซึ่ง HIMSS ไม่ได้ตรวจสอบ รับรองความถูกต้อง หรือสนับสนุนบทความนี้โดยตรง โปรดศึกษารายละเอียดอย่างเป็นทางการจากเว็บไซต์ของ HIMSS