✨Health Literacy กุญแจสู่สุขภาวะที่ดีของคนกรุงเทพ (ทิ้งทวนสมัชชาสุขภาพ กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4) ✨
เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2655 ที่ผ่านมา ผม และคุณทิวาพร ทีมธรรมาภิบาลข้อมูล (Data Governance team) ของ SiData+ ได้มีโอกาสเข้าร่วม workshop กับสมัชชาสุขภาพ กรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4 ในครั้งนี้ ที่ประชุมเริ่มจากการแบ่งกลุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่มเศรษกิจ 2) กลุ่มสุขภาพ จากการประชุมครั้งที่ 3ที่ผ่านมาเน้นโฟกัสเรื่องกระบวนการที่ทำอยู่และหารือแนวทางในการพัฒนา การให้บริการเกี่ยวกับโรคติดต่อ โรค NCDs และสุขภาพจิต
ครั้งที่ 4 เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะส่งร่างนโยบายไปให้กับกรุงเทพมหานครต่อไป ครั้งนี้โฟกัสวิธีการเพื่อให้คนกรุงเทพฯ "มีสุขภาวะที่ดีในทุกช่วงวัย" ซึ่งประกอบด้วยการส่งเสริม ป้องกันและฟื้นฟู และรักษา
ส่วนของการส่งเสริม สมัชชาเห็นว่าสิ่งที่สำคัญ คือ ...
การสื่อสารระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ไม่ว่าจะเป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ โรค NCDs หรือสุขภาพจิต รัฐต้องมีการสื่อสารที่ดีกับประชาชน ว่าประชาชนจะสามารถใช้ทรัพยากรที่รัฐมีได้อย่างสูงสุดได้อย่างไร เช่น มีกองทุนสุขภาพต่าง ๆ แต่ประชากรส่วนใหญ่ยังไม่รับรู้ถึงการมีอยู่ หรือ ทราบว่ามีกองทุนสุขภาพแต่ไม่สามารถเบิกได้เนื่องจากระเบียบการเบิกจ่ายที่ซับซ้อน
ส่วนการป้องกันและฟื้นฟู
สมัชชาเห็นว่า "การให้ความรู้กับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด" โดยที่ควรจะมีการรวบรวมแหล่งความรู้ทางสุขภาพที่น่าเชื่อถือจัดหมวดหมู่ และเผยแพร่ให้ประชาชนได้เข้ามาศึกษา เพื่อให้ประชาชนมีความฉลาดทางสุขภาพ (Health literacy) และดูแลตนเองให้ไม่ให้เจ็บป่วย
ส่วนของการรักษา
สมัชชาเห็นว่าการเชื่องโยงข้อมูลระหว่างสถานพยาบาลเป็นเรื่องสำคัญ และได้มีคนพูดถึงโครงการ Health Link เข้าถึงได้ที่ healthlink.go.th ที่ดำเนินการโดย สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) ที่มีเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลในหลายสังกัด ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม โรงเรียนแพทย์ สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ และโรงพยาบาลเอกชน (ศิริราชฯ ก็เป็นหนึ่งในนั้น) ปัจจุบันดำเนินการอยู่ใน phase 1 ส่วนของผู้ใช้บริการสามารถใช้งาน การเลือกนำส่งข้อมูลให้โรงพยาบาลจากการให้ความยินยอมผ่าน แอปเป๋าตัง เป็นรายครั้งไป
สุดท้าย ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ที่ปรึกษาผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ได้เข้ามารับฟังข้อคิดเห็นจากสมัชชา และจะรับไปทำเป็นนโยบายของกรุงเทพมหานครต่อไป
สุขภาวะที่ดีของประชาชนทุกช่วงวัย เป็นไปได้ครับ
โดยสรุป สิ่งที่ได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการของสมัชชากรุงเทพมหานคร คือ คนกรุงฯ จะมีสุขภาวะที่ดีได้ด้วยการมี Health literacy ที่ดี ซึ่งหน่วยงานรัฐและภาคเอกชนมีส่วนสำคัญในการช่วยส่งเสริมความรู้ของประชาชน ผ่านการสื่อสารที่ดีร่วมกับเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศข้อมูล และประชาชนต้องสามารถเข้าถึงทรัพยากรของประเทศได้โดยง่าย ไม่กำหนดกฎเกณฑ์ที่ซับซ้อนจนเกินไป เพื่อให้ภาคประชาสังคมสามารถช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤตการณ์ได้อย่างทันท่วงทีครับ
ผู้เขียน
นายแพทย์เปี่ยมบุญ ธมโชติพงศ์ ทีม Data Governance, SiData+
ผู้ร่วมแชร์ประสบการณ์
คุณทิวาพร อินนัน, Data Governance Officer ทีม Data Governance, SiData+
บรรณาธิการ
ศศินิภา อุทัยสอาด SiData+
ตรวจทาน
ศศินา เถียรพรมราช SiData+